การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย
สิทธิของผู้บริโภคตาม PL LAW สิทธิของผู้บริโภคตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 สิทธิผู้บริโภค 5 ประการ (พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคฯ)
1 สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและ ปราศจากพิษภัยผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือ บริการอย่างถูกต้องหรือเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดย ไม่เป็นธรรม
2 สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับ บริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3 สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับสินค้า หรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวัง ตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4 สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาหรือชดเชยความเสียหาย ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
สิทธิของผู้บริโภคตาม PL LAW
สิทธิของผู้บริโภคตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551
กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับเมื่อไหร่ ?
พรบ. นี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไป
สิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องค่าเสียหาย
ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย สามารถฟ้องร้องด้วยตนเองหรือร้อง เรียนต่อหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้ ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้าสินค้าที่ก่อให้ เกิดความเสียหาย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โดยผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดดังกล่าวข้างต้นนั้น หมายความรวมถึง ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าด้วย และยังหมายความรวมถึง ผู้ประกอบการซึ่งชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า อันทำให้ผู้ บริโภคเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าด้วย
แต่อย่างไรก็ตามหากความเสียหายจากการที่ผู้บริโภคใช้สินค้าไม่ถูกต้องตามวิธีใช้ที่กำหนด ในคู่มือ ผู้ประกอบการเหล่านั้นก็ไม่ต้องรับผิด ผู้บริโภคต้องเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้บริโภครู้ถึงความเสียหาย และ รู้ตัวผู้ประกอบการที่รับผิด
หน่วยงานที่ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนกรณีได้รับความเสียหายและไม่เป็นธรรมจาก การซื้อสินค้า
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ชั้น 5 อาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์สายด่วน สคบ. 1166 อีเมล์ consumer@ocpb.go.th เว็บไซต์ www.ocpb.go.th
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 2023310–4 โทรสาร 02 2023415 อีเมล์ thaistan@tisi.go.th เว็บไซต์ www.tisi.go.th
ข้อมูลอ้างอิง
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม www.tisi.go.th
ฝ่ายปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ www.thaieei.com
การไฟฟ้านครหลวง www.mea.or.th
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค www.ocpb.go.th
ที่มา : หนังสือคู่มือเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างชาญฉลาด